ทำความรู้จักกับ Goodyear Welt แท้จริงแล้วคืออะไร ?

ทำความรู้จักกับ Goodyear Welt แท้จริงแล้วคืออะไร ?

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนนะครับ คำว่าโครงสร้างรองเท้า คือการทำพื้นรองเท้า ปกติรองเท้าที่วางขายในตลาด หรือร้านตัดรองเท้าจะมีการทำพื้นรองเท้า 3 แบบด้วยกัน (ที่นิยม)

แบบที่ 1 ติดกาวพื้นรองเท้า หรือ Cemented เป็นการนำ Upper หรือ ช่างทำรองเท้าบ้านเราเรียกว่าหนังหน้า ดึงหนังหน้าเข้ารูปหุ่นรองเท้าแล้วเอาไปถูด้วยลูกกลิ้งมอเตอร์ห่อกระดาษทราย ให้หนังหน้ากับจี้เต้ (ภาษาจีนแคะ) หรือแผ่นรองด้านใน (Insole Board) ติดกัน แล้วเอาไปทากาวติดพื้นรองเท้า รองเท้าแบรนด์เนมดังๆ ใช้วิธีนี้เยอะครับ ข้อดีคือรองเท้ามีน้ำหนักเบา แต่ข้อเสียคือพื้นรองเท้าเปิดเร็วมาก แต่บางแบรนด์ก็ใช้ได้นานนะ

แบบที่ 2 ติดกาวเย็บทะลุพื้นรองเท้า หรือ Blake Stitch วิธีทำก็ทำเหมือนแบบที่ 1 แต่หลังจากที่ติดพื้นรองเท้าไปแล้วจะทำการไถ่ร่อง (ใช้เครื่องมือปลายแหลมขูดให้เป็นร่อง รอบรองเท้า) แล้วเอาไปเข้าเครื่องเย็บพื้นรองเท้า ด้ายที่เย็บนั้นจะทะลุเข้าไปที่หนังหน้ากับจี้เต้และพื้นรองเท้า วิธีการทำพื้นรองเท้าแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในไทย เพราะทำให้พื้นรองเท้าไม่เปิดเป็นปากเป็ด แต่มีข้อเสียอยู่นิดนึงครับ เมื่อใช้ในบ้านเราและเข้าช่วงหน้าฝน หากผู้ใช้งานเดินลุยฝนหรือพื้นถนนแฉะก็จะทำให้น้ำซึมเข้าไปในรองเท้าได้ง่ายครับ

โอเค! เราเข้าใจโครงสร้างรองเท้าแบบ Cemented และแบบ Blake Stitch แล้ว ทีนี้มีอีกโครงสร้างหนึ่งครับที่กำลังเป็นที่นิยมของหลายๆท่าน นั้นคือ การทำพื้นรองเท้าแบบเย็บเส้นหนังเข้าที่ขอบรองเท้า หรือเรียกว่า Goodyear Welt (GYW)

แบบที่ 3 Goodyear Welt เป็นการเย็บเส้นหนัง (นึกภาพเป็นเข็มขัดหนังก็ได้) เข้าไปกับด้านขอบรองเท้าด้วยเครื่องจักร ย้ำ เครื่องจักรเท่านั้น !!! เพราะการเย็บแบบนี้เกิดขึ้นจาก Mr. Charles Goodyear Jr. ชาวอเมริกัน ที่คิดค้นวิธีการเย็บพื้น 2 ชั้น ด้วยเครื่องจักร มีคุณสมบัติกันน้ำเข้าไปในรองเท้า เลยเรียกการเย็บประเภทนี้ว่าการเย็บ Goodyear Welt ตามชื่อของผู้ที่คิดค้นคนแรก หลังจากเย็บเส้นหนังเข้าไปที่ขอบรองเท้าแล้ว จะทำการติดพื้นรองเท้าเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ช่องว่างใต้พื้นรองเท้าที่เย็บ Welt เสร็จแล้ว กับพื้นรองเท้า จะใส่เศษไม้ Cork ผสมกาว และ Shank เหมือนไม้ไอติมแต่โค้งและทนกว่า เพื่อรักษาทรงรองเท้าด้านล่าง ปิดเข้าไปให้เรียบและเอาไปติดพื้นรองเท้า หลังจากนั้นก็จะนำไปเย็บ Welt ที่ขอบรองเท้ากับพื้นรองเท้าอีกชั้นหนึ่ง

จะเห็นว่าการทำพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welt มีการทำหลายขั้นตอนและที่สำคัญเครื่องจักรที่เย็บพื้นเส้นหนังกับของรองเท้ามีราคาสูง แบรนด์รองเท้าในไทยไม่มีใครทำแน่นอนครับ (จากการสอบถามและสังเกตุรองเท้าหลายแบรนด์ในไทย) ในประเทศไทยจะนิยมมีเครื่องเย็บแบบ Blake Stitch และ เย็บขอบรองเท้า นั้นหมายความว่า ถ้าแบรนด์ไหนในไทยโฆษณาว่ารองเท้าของเค้าเป็นแบบ Goodyear Welt สันนิษฐานได้เลยครับ ไม่เข้าใจหลักการ Goodyear Welt จริง ๆ หรือไม่ก็รู้แต่ต้องพูดตามกระแสเพื่อให้รองเท้าขายได้

แล้วคนไทย ทำได้มั้ย ?!

ทำได้ครับ แต่เป็นการทำแบบ Handmade Welted คือเอาเส้นหนังมาเย็บด้วยมือก่อนแล้วค่อยเอาไปเย็บขอบ Welt กับพื้นรองเท้าหนัง ด้วยเครื่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละแบรนด์ว่าจะใช้วิธีการเย็บแบบไหน ซึ่งก็จะเป็นศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่ผมจะค่อยๆ เขียนบทความมาเรื่อยๆ ให้ทุกท่านได้อ่านบทความจากคนทำรองเท้าตัวจริง ที่คำศัพท์อาจจะไม่เยอะแต่พยายามเล่าให้สนุกและเข้าใจง่าย

สรุปที่ร้านรองเท้าหนัง THREE Shoes โครงสร้างรองเท้าเป็นแบบ Handmade Welted นะครับ

Related Posts

Leave a Reply